ซื้อ 4 ใช้ แค่ 2 เลยต้องอ่าน !?!
การจอดรถขนานเส้น (หรือฟุตบาท) ในช่องที่มีรถอื่นปิดหัวท้าย ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนโยกอย่างไรก็ไม่สามารถจอดได้ MR. MOTOR EXPO มีเคล็ดลับง่ายๆ ในการจอดมาฝาก
รถขับเคลื่อน 4 ล้อ มีความอเนกประสงค์ในการใช้งานเมื่อเทียบกับรถขับเคลื่อน 2 ล้อทั่วไป หลายคนเลยให้ความสนใจ และยกให้เป็นเหตุผลหลักในการเลือกซื้อ เพราะคิดว่า “ซื้อเผื่อไว้ก่อนไม่นานน่าจะมีโอกาสได้ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อบ้าง” แต่กลายเป็นว่า ขายรถไปแล้ว ก็ยังไม่ได้ใช้งานมันเลย…สักครั้ง !
ปัจจุบันรถขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยเฉพาะในกลุ่มรถพิคอัพ มีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะให้ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมักหันมาคบกับระบบรองรับแบบอิสระ ปีกนก 2 ชั้นด้านหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนยามใช้ความเร็วสูง
ส่วนการเดินทางไกลที่ทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากพัฒนาสมรรถนะของเครื่องยนต์ ฉะนั้นจึงไม่แปลกเลย ที่รถพิคอัพยุคนี้จะมีขีดความสามารถในการทำความเร็วได้สูงมาก เมื่อใช้ความเร็วสูงกันได้ ระบบขับเคลื่อนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาตามไปด้วย…
ระบบขับเคลื่อนสำหรับล้อหน้า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล แต่เจ้าของรถมักจะลืม เพราะว่าไม่เคยได้ใช้ กลไกหลักสำคัญ คือ ข้อต่ออ่อนของระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หน้าที่ของมัน คือ เปลี่ยนมุมของเพลาขับในขณะที่ล้อมีการขยับขึ้น/ลง และส่งถ่ายกำลังจากชุดเฟืองท้ายหน้าไปยังล้อตลอดเวลา การยืด และยุบตัวของช่วงล่าง ทำให้มุมของเพลาเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามันจึงเป็นชิ้นส่วนที่ต้องรับภาระหนักพอสมควร แถมยังมีราคาสูงอีกต่างหาก ในรถขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น ชิ้นส่วนหลักๆ ก็เหมือนกับรถขับเคลื่อนล้อหลังทั่วไป จะส่งกำลังจากเครื่องยนต์ผ่านชุดเกียร์ ผ่านเพลากลางไปยังเฟืองท้าย ก่อนที่จะส่งกำลังผ่านเพลาขับไปยังล้อ
แต่สำหรับรถขับเคลื่อน 4 ล้อนั้นจะมีชุดเกียร์ฝาก ที่รับการส่งถ่ายกำลังจากระบบเกียร์เพื่อส่งไปยังเพลากลางท่อนหน้า เพลากลางตัวนี้จะส่งถ่ายกำลังไปยังเฟืองท้ายตัวหน้าอีกที เห็นไหมว่าก่อนจะส่งกำลังไปยังล้อหน้าได้ จะต้องมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวมากมายทีเดียว แถมชิ้นส่วนพวกนี้ถ้าไม่ได้ใช้ มันก็เกิดการสึกหรอได้อีกต่างหาก ปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็อาจจะทำให้กลไกเกิดการติดขัด ไม่สามารถใช้งานได้ หรือใช้ได้ แต่ทำงานไม่สมบูรณ์ ข้อต่ออ่อนแบบความเร็วคงที่ (Constant Velocity Joint) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ซีวี จอยท์ (CV Joint) เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ที่มาของคำว่า ข้อต่ออ่อนแบบความเร็วคงที่ มาจากลักษณะการทำงานของข้อต่ออ่อนบางแบบ ที่ใช้ Yoke 2 อันที่มีลักษณะเหมือนก้ามปู วางทำมุม 90 องศา ตัวหนึ่งเป็นตัวขับ อีกตัวหนึ่งเป็นตัวตาม
การทำงานของข้อต่ออ่อนแบบนี้มีข้อด้อย คือ เพลาตามจะทำงานในความเร็วซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยในหนึ่งรอบการหมุนนั้น จะมีความหน่วง และความเร่งในตัวเอง การทำงานจึงไม่ราบเรียบนัก ไม่เหมาะกับการใช้งานรอบสูงๆ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็น ซีวี จอยท์ รุ่นใหม่ ช่วยแก้ปัญหาความไม่ราบเรียบในการส่งถ่ายกำลัง อาการสั่นสะท้านในขณะที่หมุนรอบตัวเองจึงหมดไป มีความสมดุลในการหมุนมาก รถที่มีสมรรถนะสูง หรือทำความเร็วสูงๆ ได้ สามารถเปลี่ยนแปลงมุมการส่งกำลังของเพลาขับได้มาก โดยเฉพาะในรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีมุมการยืด และยุบมากๆ
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า แม้จะพัฒนามาแค่ไหน ข้อต่ออ่อนก็ต้องได้รับการดูแลที่ดี จึงจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สิ่งสำคัญก็คือ เรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงด้วยนั่นเอง ชิ้นส่วนภายในไม่ต่างอะไรจากเพลาขับเคลื่อนของรถขับหน้า แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า เพื่อรองรับแรงบิด และน้ำหนักของตัวรถที่มากขึ้น เบ้าลูกปืน และตลับลูกปืนภายใน จะต้องรองรับภาระค่อนข้างมาก
ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว โดยปกติแล้วในคู่มือจะมีข้อกำหนดในการดูแลรักษาเอาไว้ เช่น ต้องใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้ชิ้นส่วนได้มีการเคลื่อนไหว เพราะชิ้นส่วนภายในเป็นโลหะ และมีการบรรจุไขหล่อลื่น หรือจาระบีอยู่ ต้องให้ระบบทำงานก็เพื่อให้ชิ้นส่วนมีการเคลื่อนไหว จาระบีจะได้เคลือบผิวชิ้นส่วนได้อย่างทั่วถึง การปล่อยเอาไว้นานๆ นั้นอาจทำให้ผิวเกิดสนิมตามดได้ เวลาใช้งานจริงจะเกิดเสียงดังตามมา แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนนั้นไม่ใช่ถูกๆ
นอกเหนือจากเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีเรื่องอื่นๆ ต้องใส่ใจอีก โดยเฉพาะเรื่องยางหุ้มหัวเพลาเหมือนกับรถขับเคลื่อนล้อหน้า แม้จะไม่ได้ใช้งาน ยางตัวนี้ก็มีการเสื่อมสภาพได้เช่นกัน เมื่อพบว่าสภาพยางเริ่มเปื่อยยุ่ย หรือมีการฉีกขาด ต้องเปลี่ยนทันที ไม่เช่นนั้นฝุ่นผง หรือน้ำจะเข้าไปทำอันตรายชิ้นส่วนภายใน เกิดความเสียหายได้ น้ำนี่แหละ เป็นตัวพาสิ่งสกปรก และเม็ดทรายเข้าไป นั่นเป็นฝันร้ายที่คุณจะไม่อยากเจอเลยทีเดียว เพราะค่าซ่อมทำให้คุณหน้ามืดได้
หลายคนมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบบางเวลา (Part Time) ซึ่งโดยปกติ จะใช้ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลังเท่านั้น เมื่อใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังเพียงอย่างเดียว ก็คิดว่าเพลาขับหน้าจะไม่ทำงาน แต่ที่จริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเพลาขับหน้ายังคงหมุนตามการหมุนของล้อ ในรถกลุ่มนี้มีระบบลอคดุมล้อหน้าที่ต่างกัน
ในเมื่อรถคุณมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจ ถึงหลักการทำงาน และการดูแลรักษาที่ถูกต้องด้วย เพื่อให้ระบบขับเคลื่อนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน การดูแลรักษานอกจากจะต้องพยายามใช้งานระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออย่างสม่ำเสมอแล้ว ต้องตรวจเชคยางหุ้มเพลาควบคู่กันไปด้วย ยอมเสียเวลาเล็กๆ น้อยๆ ในการดูแล และควรหาโอกาสใช้งานมันบ้างจะช่วยประหยัดเงินได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกเหนือจากการดูแลชิ้นส่วนดังที่กล่าวไปแล้ว การทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการใช้งานที่ถูกต้องก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากรถแต่ละรุ่นมีหลักการทำงาน หรือขั้นตอนการทำงานที่แตกต่างกันเล็กน้อย รถบางรุ่นจะเข้าเกียร์ขับเคลื่อน 4 ล้อได้ ต้องปลดเกียร์หลักไปอยู่ตำแหน่งเกียร์ว่างก่อน จากนั้นก็จะใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ตลอดเวลา รถรุ่นใหม่ๆ บางรุ่นสามารถเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4H ได้เลย ไม่ต้องจอดรถ ไม่ต้องปลดเกียร์หลักเป็นเกียร์ว่างก่อนก็สามารถใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อได้ เว้นแต่ต้องการเปลี่ยนไปใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4L ส่วนใหญ่ต้องจอดรถก่อน เพื่อความปลอดภัยของชิ้นส่วนภายใน เนื่องจากเป็นเกียร์ที่มีอัตราทดสูงมากๆ การเปลี่ยนมาใช้เกียร์ 4L ขณะเคลื่อนที่ อาจจะทำให้ชุดเฟืองภายในเกิดความเสียหายได้
ฉะนั้นท่านที่ใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ สิ่งสำคัญอยู่ที่เรื่องของการทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการทำงาน และคุณประโยชน์ของระบบให้ถี่ถ้วน ในเวลาที่ต้องการใช้งานจะได้ไม่เกิดความสับสน และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ประสบพบเจอ
และถ้าจะให้ดี ควรหาโอกาสไปเรียนหลักสูตรการใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเบื้องต้น จะได้ทราบถึงสมรรถนะ และประสิทธิภาพรถของตนเอง ว่ามีขีดความสามารถในการใช้งานแค่ไหน เมื่อถึงคราวจำเป็นจะได้ประเมินสถานการณ์ และความสามารถของรถตนเองได้อย่างเหมาะสม หลายครั้งที่พบเจอว่าเจ้าของรถขาดประสบการณ์ในการบังคับรถ และเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อไม่เหมาะสม จนเกิดปัญหา เช่น ติดหล่ม หรือไม่สามารถผ่านอุปสรรคไปได้ ทั้งๆ ที่ตัวรถนั้นสามารถทำได้…วันนี้ลองเปิดอ่านคู่มือประจำรถ และศึกษาวิธีการใช้งานให้เข้าใจ และหมั่นใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อบ้างเมื่อมีโอกาส เพื่อให้ระบบทำงานอย่างสมบูรณ์
ที่มาบทความ นิตยสาร 4Wheels Magazine
เรื่องโดย : พหล ฯ 30 / autoinfo.co.th